15 ปีแห่งความสำเร็จของไอพีสตาร์ ดาวเทียมบรอดแบนด์ดวงแรกของโลก
เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2563
อ่าน 5 นาที
ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ดาวเทียมไอพีสตาร์ได้ถูกจัดส่งขึ้นสู่วงโคจร และคือจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมดาวเทียมโลก จวบจนวันนี้ นับเป็นเวลาถึง 15 ปี ที่ดาวเทียมไอพีสตาร์ได้เปิดตัวและเริ่มต้นให้บริการในฐานะของการเป็นดาวเทียมบรอดแบนด์ดวงแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค
ไทยคมคือผู้ริเริ่มและบุกเบิกอุตสาหกรรมดาวเทียมอย่างแท้จริง เพราะไทยคมคือบริษัทดาวเทียมรายแรกของโลก ที่ได้จัดส่งดาวเทียมบรอดแบนด์ดวงแรกขึ้นสู่วงโคจร ทำให้ผู้ใช้งานหลายแสนคนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการอินเทอร์เน็ต สามารถเชื่อมต่อและใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการให้บริการของดาวเทียมไอพีสตาร์
ไอพีสตาร์ได้รับการออกแบบและพัฒนาโดย บริษัท สเปซ ซิสเต็มส์ ลอเรล ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตดาวเทียมชั้นนำแห่งสหรัฐอเมริกา ณ ช่วงเวลานั้น ไอพีสตาร์นับเป็นดาวเทียมสื่อสารเชิงพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากที่สุดในโลก ที่ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรค้างฟ้า หรือ GEO ด้วยน้ำหนักเกือบ 6,500 กิโลกรัม และยังเป็นดาวเทียมบรอดแบนด์ดวงแรก ที่สามารถส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงสุดถึง 45 กิกะบิตต่อวินาที (Gbps)
ครั้งแรกกับดาวเทียมบรอดแบนด์ของโลก
ดาวเทียมไอพีสตาร์ใช้เพื่อการรับส่งข้อมูลความเร็วสูงบนอินเทอร์เน็ต ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ได้เกือบทั้งหมดของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกผ่านช่องสัญญาณแบบ Spot Beam ที่สามารถเพิ่มความถี่ในการรับส่งข้อมูลและเพิ่มแบนด์วิธได้ถึงยี่สิบเท่า เมื่อเทียบกับดาวเทียมระบบ Ku-band แบบเดิม จึงส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และรองรับปริมาณข้อมูลที่มีมากขึ้น
การปฏิวัติเทคโนโลยีด้านดาวเทียม
ไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมรุ่นใหม่ที่ออกแบบให้สามารถรองรับทั้งการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านสายเคเบิลใยแก้วแก่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแก่ผู้ใช้งานโดยตรง ดาวเทียมไอพีสตาร์สามารถควบคุมการทำงาน อัพเกรดอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ทั้งหมด ผ่านเกตเวย์และเครือข่ายภาคพื้นดิน
ไอพีสตาร์มีจุดแข็งที่สามารถแข่งขันได้ในตลาด เมื่อเปรียบเทียบกับโซลูชันบรอดแบนด์ภาคพื้นดินอย่าง ADSL หรือ Fixed Wireless ทั้งในด้านของราคาต้นทุน รวมถึงประสิทธิภาพในการครอบคลุมพื้นที่การให้บริการซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของระบบดาวเทียม
เทคโนโลยีดาวเทียมแบบเดิมจะใช้การส่งสัญญาณแบบ single beam เพื่อให้บริการครอบคลุมทั้งภูมิภาค แต่เทคโนโลยีของไอพีสตาร์นั้น เป็นการส่งสัญญาณแบบ Spot Beam โดยสามารถส่งสัญญาณได้แบบเฉพาะพื้นที่ แต่ส่งพร้อมกันได้หลายจุด และยังสามารถนำความถี่กลับมาใช้ซ้ำ ทำให้ไอพีสตาร์มีความถี่ในการรับส่งข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น และด้วยความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่สูงสุดถึง 45 กิกะบิตต่อวินาที (Gbps) จึงทำให้ไอพีสตาร์มีแบนด์วิธเพิ่มมากขึ้นได้ถึง 20 เท่า เมื่อเทียบกับดาวเทียม Ku-band แบบเดิม ด้วยคุณสมบัติทางเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าของดาวเทียมไอพีสตาร์ จึงทำให้ไอพีสตาร์สามารถให้บริการได้อย่างเหนือชั้นนับตั้งแต่การเปิดตัวบริการเป็นครั้งแรก
เพิ่มขีดความสามารถในเอเชียแปซิฟิก
ก่อนที่ดาวเทียมไอพีสตาร์จะให้บริการ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่ในช่วงระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การจัดส่งดาวเทียมไอพีสตาร์ขึ้นสู่วงโคจร ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพในการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแก่อุตสาหกรรมโทรคมนาคม หน่วยงานภาครัฐและเอกชน กลุ่มผู้ใช้ตามบ้าน ทั้งยังช่วยสนับสนุนการเรียนทางไกลและการเรียนออนไลน์ในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยขยายโครงข่ายโทรศัพท์มือถือในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงการให้บริการสื่อสารทางทะเลในประเทศออสเตรเลียอีกด้วย จึงสามารถกล่าวได้ว่า ไอพีสตาร์ได้เชื่อมต่อการสื่อสารภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้เกิดขึ้นได้อย่างไร้พรมแดน
การให้บริการของไอพีสตาร์ครอบคลุมประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีสถิติในการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ผ่านอุปกรณ์สัญญาณปลายทางสูงสุดถึงกว่า 200,000 ชุด แก่ผู้ใช้งานที่อาศัยอยู่ในชนบทและพื้นที่ห่างไกล และไอพีสตาร์ยังได้รับการออกแบบเพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้งานได้กว่า 10 ล้านคนทั่วภูมิภาค ใน 18 ประเทศ
อนาคตดาวเทียมบรอดแบนด์ (High Throughput Satellite – HTS)
การเปิดตัวดาวเทียมไอพีสตาร์ และการเกิดขึ้นของดาวเทียมบรอดแบนด์ สร้างจุดเปลี่ยนแก่วงการดาวเทียมโลกเป็นอย่างมาก ถึงแม้ในปัจจุบัน จะมีการส่งดาวเทียมขนาดเล็กขึ้นสู่วงโคจรระดับกลาง (MEO) และระดับต่ำ (LEO) เป็นจำนวนมาก แต่ความต้องการใช้งานดาวเทียมบรอดแบนด์ในวงโคจรระดับสูง (GEO) ก็ยังคงอยู่และไม่ได้ลดปริมาณความต้องการในการใช้งานลงแต่อย่างใด
ในอนาคต ดาวเทียมบรอดแบนด์จะมีส่วนสำคัญและทำให้เกิดบริการต่างๆ ในหลากหลายธุรกิจ อาทิ Cellular Backhaul ธุรกิจการเดินเรือ การเชื่อมต่อการสื่อสารทางทะเล รวมถึงธุรกิจด้านพลังงานและก๊าซของภาครัฐ ล้วนยังต้องใช้บริการดาวเทียม HTS นั่นย่อมพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้เวลาจะผ่านมาแล้วถึง 15 ปี แต่ดาวเทียมชนิดนี้ยังคงมีความสำคัญต่อภาคธุรกิจมาโดยตลอด
ยิ่งกว่านั้น ดาวเทียมรุ่นต่อๆไป จะมีส่วนช่วยในการสนับสนุนให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ โดยในอนาคตอันใกล้นี้ การเกิดขึ้นของ IoT (Internet of Things) จะทำให้ความต้องการในการใช้ข้อมูลเกิดขึ้นอย่างมหาศาล และนั่นจะนำมาซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีของดาวเทียม HTS ในรุ่นต่อๆ ไป ที่เรียกว่า Very-High Throughput Satellites (VHTS)
VHTS จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมดาวเทียมบรอดแบนด์เป็นอย่างมาก ด้วยคุณสมบัติในการให้บริการที่ครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ ราคาต้นทุนต่ำ และยังสามารถเชื่อมต่อกับโซลูชั่นได้อย่างครบวงจร จึงรองรับความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์แบบ ในอนาคตดาวเทียมบรอดแบนด์ จึงยังคงความสำคัญและมีส่วนช่วยในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ประชากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เช่นเดียวกับการใช้งานดาวเทียมที่อยู่ในวงโคจรระดับ MEO และ LEO ควบคู่กันไป