ไทยคมรายงานผลประกอบการไตรมาส 2/2567
- รายได้จากการขายและการให้บริการ 638 ล้านบาท เติบโตเทียบไตรมาสและปีก่อนหน้า
- ไทยคม ประกาศความสำเร็จกับแพลตฟอร์ม ‘CarbonWatch’ เครื่องมือประเมินคาร์บอนเครดิต ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม และ AI ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) รายแรกในไทยและอาเซียน
- ไทยคม ร่วมมือกับ กองทัพอากาศ วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการบินและอวกาศพร้อมส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
กรุงเทพมหานคร, 7 สิงหาคม 2567 – บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) (“ไทยคม” หรือ “บริษัท”) ผู้ให้บริการดาวเทียมไทย รายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 2/2567
บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) (บริษัท หรือ ไทยคม) มีรายได้จากการขายและการให้บริการในไตรมาส 2/2567 จำนวน 638 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้จำนวน 609 ล้านบาทในไตรมาส 1/2567 (QoQ) และจำนวน 636 ล้านบาทในไตรมาส 2/2566 (YoY) โดยมีสาเหตุหลักมาจากรายได้จากการให้บริการดาวเทียมและเกี่ยวเนื่องที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้าในประเทศ รวมทั้งอัตราการใช้บริการของลูกค้าเมื่อเทียบกับความสามารถในการให้บริการของดาวเทียมที่บริษัทให้บริการภายใต้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ได้แก่ ดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 อยู่ที่ระดับ 62% ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 4 ไตรมาสติดต่อกัน
บริษัทมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ในไตรมาส 2/2567 จำนวน 63 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวลดลงจากไตรมาส 1/2567 และไตรมาส 2/2566 เนื่องจากในไตรมาส 1/2567 บริษัทมีรายได้จากอัตราแลกเปลี่ยน และในไตรมาส 2/2566 บริษัทรับรู้รายได้ค่าชดเชยจากข้อพิพาทกับบริษัทคู่สัญญารายหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากกำไรจากการดำเนินงาน¹ ซึ่งสะท้อนถึงผลการดำเนินงานหลักของธุรกิจที่ไม่รวมรายได้พิเศษ พบว่ามีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีจำนวน 49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 308% จากไตรมาส 1/2567 (QoQ) การเติบโตดังกล่าวเป็นผลมาจากรายได้จากการขายและการให้บริการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงถึงความสามารถของบริษัทในการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและการขยายฐานลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในไตรมาส 2/2567 หากพิจารณาเฉพาะธุรกิจด้านดาวเทียม บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานที่ไม่รวมส่วนแบ่งกำไรขาดทุนจากธุรกิจโทรคมนาคมจำนวน 69 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่ากำไรจากการดำเนินงานปกติ20 ล้านบาท สะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งของธุรกิจหลัก โดยเติบโต 30% จากไตรมาส 1/2567 (QoQ) จำนวน 53 ล้านบาท
สำหรับธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์ในต่างประเทศ ในไตรมาส 2/2567 รายได้ของบริษัท ลาว เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ มหาชน (LTC) เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2567 (QoQ) และไตรมาส 2/2566 (YoY) จากนโยบายการปรับโครงสร้างราคาค่าบริการโทรคมนาคมของกระทรวงคมนาคมและการสื่อสาร สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว อย่างไรก็ตาม
ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นเนื่องจากสกุลเงินกีบเทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2567 (QoQ)
บริษัทตอกย้ำความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจที่ต่อยอดความเชี่ยวชาญในด้านธุรกิจดาวเทียม มาสู่ธุรกิจเทคโนโลยีอวกาศ ด้วยการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจโลก อาทิ ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม มาวิเคราะห์ร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning: ML) จนเกิดเป็นแพลตฟอร์ม ‘CarbonWatch’ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้ ที่ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก รายแรกในประเทศไทยและอาเซียน
โดยแพลตฟอร์มนี้จะช่วยให้การประเมินคาร์บอนในพื้นที่ป่าขนาดใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ รวดเร็ว ตรวจสอบได้ และคุ้มค่ากว่าวิธีดั้งเดิม ซึ่งนับเป็นหนึ่งในบริการด้านเทคโนโลยีอวกาศของบริษัท ภายใต้ Earth Insights ที่ให้บริการแก่ลูกค้าในหลายมิติ โดยที่ผ่านมา บริษัทมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ ESG มาโดยตลอด ส่งผลให้บริษัทได้รับรางวัลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้ง Sustainability Award 2023 และการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Rating ในระดับ AAA ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงการเป็นองค์กรที่ช่วยให้ประเทศชาติเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งหลังจากที่แพลตฟอร์ม CarbonWatch ของบริษัทได้รับการรับรองแล้ว จะนำไปใช้งานอย่างจริงจังในพื้นที่ป่าชุมชนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ พร้อมทั้งเดินหน้าผนึกกำลังกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศชาติสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ต่อไป
กองทัพอากาศ (ทอ.) ร่วมมือกับบริษัทในการจัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการบินและอวกาศ เพื่อศึกษา วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีการบินและอวกาศ และพัฒนาเทคโนโลยีในด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อันจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการทำภารกิจต่าง ๆ และการรักษาน่านฟ้าและห้วงอวกาศไทย ให้แก่กองทัพอากาศ ตลอดจนส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้เกิดการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ภายใต้ข้อตกลง 3 มิติหลัก ได้แก่ 1. การวิจัยและพัฒนาระบบอากาศยานไร้คนขับที่จะปฏิบัติการควบคู่ไปกับเทคโนโลยีอวกาศเพื่อขยายศักยภาพด้านการบินให้ครอบคลุมอาณาบริเวณดูแลของกองทัพมากยิ่งขึ้น 2. การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมขนาดเล็กล้ำสมัยที่จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้านปฏิบัติการทางการทหารของ ทอ. ด้วยการใช้ประโยชน์จากห้วงอวกาศ และ 3. การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านจรวดนำส่งดาวเทียมและปูทางไปสู่การพัฒนาท่าอวกาศยานทหารเพื่อความมั่นคงในอนาคต
¹ กำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit) หมายถึง กำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทใหญ่ ไม่รวมกำไร (ขาดทุน) จากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้น (unrealized gain (loss) on exchange rate) ของบริษัทและการร่วมค้า และไม่รวมผลกระทบจากรายการพิเศษ |
###
ข้อมูลเพิ่มเติม:
แชร์ข่าวนี้: